วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความหมายของการศึกษาปฐมวัย

การศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมการดูแล และการศึกษาที่จัดให้กับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 8 ปี การศึกษาอนุบาลเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาปฐมวัย
การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่อาจจำแนกออกได้เป็น 4 ระดับ คือ การศึกษาระดับอนุบาล การศึกษาระดับประถมศึกษา การศึกษาระดับมัธยมศึกษา และการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งการศึกษาแต่ละระดับที่กล่าวนี้ จะมีการจัดการและพัฒนาไปอย่างสอดคล้องกับวัยของผู้เรียน และการเปลี่ยนแปลงของสังคม การศึกษาอนุบาลเป็นการศึกษาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย ความคิด สติปัญญา สังคม และอารมณ์ ในขณะที่การศึกษาระดับอุดมศึกษา มุ่งที่การเตรียมเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเป็นต้น ทั้งนี้การศึกษาแต่ละระดับมีลักษณะ และมีเป้าหมายเฉพาะตามระดับ
เดิมการศึกษาอนุบาลเป็นรูปแบบของการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็กที่รัฐจัดขึ้นเพื่อสนองตอบสังคมที่ต้องการให้บุตรหลานได้เข้าโรงเรียน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียน ชั้นประถมศึกษา แต่ภาวะการต่อมา การศึกษาอนุบาลได้รับการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เกิดรูปแบบของการจัดการศึกษาใหม่ขึ้นมาเรียกว่าการศึกษาปฐมวัย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 
การพัฒนาของการศึกษาปฐมวัย
การศึกษาปฐมวัยเริ่มต้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างมีการพัฒนา โรงเรียนสำหรับเด็กขึ้นอย่างหลากหลาย โอเบอร์ลิน (Frederick Oberlin) ตั้งโรงเรียนเด็กเล็กขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1770 โดยดำเนินการ สอนภาษา หัดฝึกฝีมือ ออกกำลังกาย และ การเล่น โอเวน (Robert Owen) เปิดโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก ((Infant school) ขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1820 ด้วยความเชื่อที่ว่าวัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้และ พัฒนาบุคลิกภาพ ต่อมาปี ค.ศ. 1837 เฟรอเบล (Friedrich Froebel) ตั้งโรงเรียนอนุบาลขึ้นในประเทศเยอรมัน จากจุดนี้เอง เฟรอเบลนับเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่ยาวที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดของการศึกษาปฐมวัย (Spodek ใน Spodek and Saracho, 1995 : 3-5)
การศึกษาสำหรับเด็กเล็กในระยะแรกยังคงมุ่งเน้นเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ด้วยเห็นว่าเป็นวัยที่พร้อมต่อการเรียน แต่ด้วยแรงผลักดันจากสังคม ประมาณ ปี ค.ศ. 1950 ประเทศสหรัฐอเมริกามีปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวแม่บ้านต้องประกอบอาชีพ สภาวะทางสังคมเปลี่ยนไป มีผลทำให้การจัดการศึกษาอนุบาลต้องขยายขอบเขตจาก 3-6 ขวบ เป็นให้การดูแลและการศึกษาแก่เด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 8 ปี เรียกว่าการศึกษาปฐมวัย
ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง อุดมคติ และความจำเพาะของเหตุการณ์ จึงทำให้คำที่ใช้เกี่ยวกับการศึกษาเด็กเปลี่ยนไป ชาติตะวันตก หันมาใช้คำว่า “การศึกษาปฐมวัย (early childhood education) โดยให้หมายถึง การบริการ การดูแลและการให้การศึกษาแก่เด็กจากแรกเกิดถึงอายุ 8 ปี โดยจัดเป็นระบบเดียวกัน เรียกว่า Educare ทำให้การศึกษาเด็กเดิมขยายขอบเขตของการศึกษา ให้ครอบคลุมตั้งแต่การดูแลเด็กทารก การดูแลเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล (Woodill in Woodill et. al., 1992 : 14-15)
แม้การศึกษาก่อนเข้าโรงเรียน จะเปลี่ยนเป็นการศึกษาปฐมวัยแล้วก็ตาม ยังพบว่าการเรียนในชั้นอนุบาลหรือการเรียนชั้นเตรียม ป. 1 มีความสำคัญกับการศึกษาปฐมวัยมากที่สุด ทำให้การผลิตครูปฐมวัย เน้นการผลิตครูอนุบาลเป็นหลักต่อมาจึงผนวกวิชาการศึกษาปฐมวัยเข้าไปในหลักสูตรครูอนุบาล แต่เนื่องด้วยการจัดการศึกษาปฐมวัยรวมเด็กแรกเกิดถึง 8 ปี จึงได้มีการปรับหลักสูตรการศึกษาครูเป็น 2 ระดับ คือ ครูผู้ทำหน้าที่ดูแลเด็ก (Child care teacher) กลุ่มหนึ่ง และ ครูอนุบาล อีกกลุ่มหนึ่ง การออกใบอนุญาต แยกเป็น 2 กลุ่มเช่นกัน คือ กลุ่มครูที่ทำงานกับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ปี และกลุ่มครูที่ทำงานกับเด็กอายุ 5 ปี ถึง 8 ปี เหตุผลเพราะทั้งสองกลุ่มต่างมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้งด้านการบริหาร การสอน และการดูแล (Fromberg and Williams,in Williams and Doris, 1992 : 420-423)
หลังจากที่มีการปรับขอบเขตของการศึกษาปฐมวัยครอบคลุมถึงการดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 8 ปีแล้ว ทำให้ผู้ที่มาทำหน้าที่บุคลากรปฐมวัย จะต้องผ่านการฝึกอบรมด้านการศึกษาปฐมวัยและจิตวิทยาพัฒนาการเด็กอีกทั้งต้องมีความรู้ และสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีเจตคติที่ดี และที่สำคัญสามารถดูแลและเลี้ยงเด็กได้ โดยใช้เหตุผล (EssA, 1995 : 30-31) โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ครูต้องมีความรู้ทางด้านการศึกษาด้วย NAEYC, 1982 (National Association for the Education of Young Children) และ ACEI, 1982 (Association for Childhood Education Intemational) ได้กำหนดแนวทางการสำหรับเตรียมครูปฐมวัยว่าจะต้องประกอบด้วยข้อความรู้ ดังต่อไปนี้ (Brewer, 1995 : 504-505)
  • ความเข้มทางพื้นฐานด้านการศึกษาศิลปศาสตร์
  • ความรู้พื้นฐานด้านการศึกษาปฐมวัย
  • ความรู้ด้านหลักสูตร
  • ความรู้ด้านกระบวนการเรียนการสอน
  • ความรู้ด้านการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก
  • มีประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กวัยเล็กด้านการนิเทศ

จุดประสงค์ของการศึกษาปฐมวัย
การจัดการศึกษาปฐมวัยได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากแรงผลักดันของสังคม และความต้องการของสังคม ทำให้เกิดการจัดโครงการการบริการต่าง ๆ กัน ทั้งเพื่อการดูแลและการศึกษา ซึ่งในการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อ (Essa, 1996 : 19-20)
  1. บริการให้การดูแลและเลี้ยงดูเด็กให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ
  2. ให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมการปรับตัวเข้ากับสังคม ทักษะทางปัญญา และพัฒนาการในทุกด้าน
  3. จัดเป็นบริการเพื่อการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เด็กยากจน ให้ได้รับการศึกษา การดูแลสุขภาพ การดูแลฟัน โภชนาการและการศึกษาสำหรับผู้ปกครอง
     
 ลักษณะของสถานบริการและการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย
การศึกษาปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึง 8 ขวบ ได้กำหนดขึ้น ที่บ้าน ศูนย์บริการหรือโรงเรียนก็ได้ โดยรูปแบบของการจัดนี้ จำแนกเป็น 2 ลักษณะ คือ จัดที่บ้าน (Home-based programs) หมายถึง การจัดบริการการดูแลที่ทำขึ้นที่บ้าน กับอีกลักษณะหนึ่งคือ จัดที่สถานบริการ (Center-based programs) เป็นบริการเด็กกลุ่มใหญ่ ซึ่งในการจัดบริการจำแนกตามอายุได้ 3 กลุ่ม คือ
  1. กลุ่มเด็กทารก (อายุ 2 ขวบแรก)
  2. กลุ่มเด็กเล็ก (อายุ 2-4 ขวบ)
  3. กลุ่มเด็กอนุบาลและประถมต้น (อายุ 5-8 ขวบ)